ถ่ายรูปคนอื่นในที่สาธารณะ ผิดกฎหมาย PDPA ไหม? มาหาคำตอบกัน! ในยุคสมัยที่โซเชียลมีเดียเฟื่องฟู การถ่ายภาพและแชร์รูปภาพกลายเป็นเรื่องปกติ แต่เคยสงสัยกันบ้างไหมว่า การถ่ายภาพคนอื่นโดยไม่ได้รับอนุญาตนั้นผิดกฎหมาย PDPA หรือไม่? คำตอบคือ “ขึ้นอยู่กับสถานการณ์และวัตถุประสงค์ของการถ่ายภาพ” หากคุณถ่ายภาพแล้วติดบุคคลอื่น เพื่อนำไปใช้ส่วนตัวไม่ได้นำไปใช้ในเชิงพาณิชย์ ถือว่า ไม่เข้าข่ายในการกระทำผิดของ PDPA แต่หากคุณถ่ายภาพบุคคลอื่นโดยไม่ได้รับความยินยอมและนำไปใช้ในเชิงพาณิชย์ ถือว่า เข้าข่ายผิด PDPA การถ่ายในรูปแบบการนำไปใช้ส่วนตัว และ การนำไปใช้เชิงพาณิชย์ ทั้ง 2 ประเภทนี้แตกต่างกันอย่างไร มาดูตัวอย่างกัน! 💁♀️รูปแบบการนำไปใช้ส่วนตัว คือ การนำภาพไปใช้ในรูปแบบประโยชน์ส่วนตน ไม่ได้รับรายได้จากการนำรูปไปใช้ และไม่ก่อให้เกิดให้ความเสียหายแก่บุคคลที่อยู่ในรูปภาพ ยกตัวอย่าง เช่น เราถ่ายภาพทิวทัศน์ สถานที่ ในภาพบังเอิญมีบุคคลติดอยู่ในภาพของสถานที่นั้นด้วย เรานำรูปภาพไปโพสต์ใน Facebook สามารถทำได้ โดยยังไม่เข้าข่ายละเมิดสิทธิ PDPA แต่ภาพนั้นต้องไม่ก่อให้เกิดความเสียหายต่อบุคคลที่อยู่ในรูปภาพด้วยนะคะ 🌐รูปแบบการนำไปใช้เชิงพาณิชย์ คือ การใช้ภาพถ่ายของบุคคลอื่นเพื่อประโยชน์ทางธุรกิจ โดยมุ่งหวังผลตอบแทนทางการเงิน หรือเพื่อส่งเสริมสินค้า บริการ หรือกิจกรรมทางการตลาด ซึ่งรูปแบบนี้จะต้องขอความยินยอมจากเจ้าของข้อมูล(บุคคลที่อยู่ในรูปภาพหรือวีดีโอ) ก่อนนำภาพหรือวีดีโอไปเผยแพร่ ยกตัวอย่างเช่น คุณไวท์ถ่ายรูปกับลูกค้าเพื่อนำไปโปรโมทสินค้าของตนเองในช่องทางออนไลน์ แต่ลูกค้าไม่ได้มีการให้ความยินยอม จะเข้าข่ายผิดกฏหมาย PDPA แต่ทั้งนี้ทั้งนั้นเพื่อความสบายใจของทั้ง 2 ฝ่าย ก็แนะนำให้ ขออนุญาตจากบุคคลที่เราต้องการถ่ายภาพและภาพที่มีบุคคลอื่นปรากฏอยู่ ก็เบลอใบหน้าเพื่อป้องกันปัญหาที่อาจจะเกิดขึ้นได้ “การเคารพสิทธิส่วนบุคคลของผู้อื่น เป็นสิ่งสำคัญสำหรับการอยู่ร่วมกันในสังคมยุคดิจิทัล การถ่ายภาพและแชร์รูปภาพอย่างมีจริยธรรมกันนะคะ😊” FacebookLine